ทำความรู้จักโลหะเงิน 925 Sterling Silver
ทำความรู้จักโลหะเงิน 925 Sterling Silver โลหะมีค่ายอดนิยมสำหรับเครื่องประดับ
925 Sterling Silver คืออะไร? เป็นเงินแท้หรือเปล่าคะ? ใส่แล้วจะลอกไหม? วันนี้เรามาหาคำตอบกันค่ะ
ย้อนเวลากลับไปในช่วงประวัติศาสตร์ของอียิปต์และกรีกโบราณ โลกใบนี้ก็รู้จักการนำวัตถุมาประดับการแต่งกายกันแล้ว เครื่องประดับถูกนำมาประดับร่างกายเพื่อความสวยงาม และยังแสดงถึงฐานะ ตำแหน่ง ยศศักดิ์ รวมไปถึงสถานะทางเศรษฐกิจของเจ้าของอีกด้วย โลหะมีค่า (Precious Metal) กลุ่มโลหะที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่ เงิน (Silver), ทองคำ (Gold) และแพลตทินั่ม (Platinum) ล้วนถูกนำมาสร้างสรรค์เป็นเครื่องประดับหลากหลายชนิดจนมาถึงทุกวันนี้
มาตรฐานของเครื่องประดับเงิน
เงิน (Silver) ธาตุหมายเลขอะตอมลำดับที่ 47 ในตารางธาตุ มีสัญลักษณ์คือ Ag คุณสมบัติตามธรรมชาติของโลหะเงินบริสุทธิ์ 99.9% นั้น จะมีจุดหลวมเหลวที่ต่ำ อ่อนตัว สามารถยืดและตีเป็นแผ่นได้ แต่ไม่สามารถขึ้นรูปเป็นชิ้นงานตัวเรือนได้ ในอดีตจึงมักไม่นิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับ แต่ปัจจุบัน มีการคิดค้นการผสมโลหะเงินเข้ากับโลหะชนิดอื่นๆ เพื่อให้เกิดความแข็งแรงและสามารถผลิตเป็นเครื่องประดับได้
เงิน หรือ สเตอลิงซิลเวอร์ (925 Sterling Silver) คือ มาตรฐานการทำเครื่องประดับที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ด้วยการใช้โลหะเงิน (Silver) ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 92.5% ผสมกับโลหะชนิดอื่นๆ ที่นิยมคือทองแดง (Alloy) อีก 7.5% เพื่อให้เครื่องประดับสามารถขึ้นรูปเป็นตัวเรือนได้อย่างแข็งแรง ทนทาน มีสีขาวที่เงางาม และวาวสวย
แต่ถึงอย่างนั้น โลหะเงินอาจมีการทำปฏิกิริยากับอากาศ (Oxidized) ที่มีซัลเฟอร์ (Sulfur) ได้เช่นกัน ดังนั้นเพื่อรักษาคุณภาพให้เครื่องประดับมีความสวยงามอย่างที่สุด จึงมีการเคลือบผิวเงินด้วยโลหะมีค่า อย่าง โรเดียม (Rhodium) ที่มีสีขาวเงิน เพื่อป้องกันเนื้อเงินสัมผัสกับอากาศ และเคลือบตัวเรือนให้มีความแวววาวอยู่เสมอ คุณทราบหรือไม่ว่าโลหะเคลือบผิวเงินชนิดนี้ นับเป็นโลหะหายากในกลุ่มของแพลตทินั่ม (Platinum) ทั้งยังมีราคาและมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงที่สุด ลองตามมาอ่านเรื่องราวของ โรเดียม (Rhodium) กันต่อได้ ที่นี่ ค่ะ
ความเป็นมาของคำว่า สเตอร์ลิง (Sterling)
นอกจาก "สเตอร์ลิง" จะอ้างถึงโลหะเงิน 92.5% แล้ว ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกเช่นกัน เราจะพาคุณย้อนเวลากลับมาในช่วงศตวรรษที่ 13 (ทศวรรษ 1200) ยุคสมัยของกษัตริย์เฮนรี่ที่ 2 ประเทศอังกฤษ ปี ค.ศ. 1078 ขณะนั้น สเตอร์ลิงก็ถือกำเนิดขึ้นแล้ว ในภาษาอังกฤษสเตอร์ลิงมีความหมายว่าแข็งแรงและมั่นคง แต่เชื่อกันว่าสเตอร์ลิงนั้น มีรากศัพท์มาจากภาษาฝรั่งเศสโบราณของคำว่า เอสเทอร์ลิน (Sterilensis) ซึ่งหมายถึง ดาวดวงน้อย
อ้างถึงพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด ปี ค.ศ. 1995 ระบุว่า "สเตอร์ลิง" ถูกบัญญัติขึ้นในช่วงยุคกลางตอนต้นของอังกฤษ สื่อถึงดวงดาวขนาดเล็กที่มองเห็นได้ และยังมีความหมายถึงเหรียญเงินเพนนี (Penny) หรือเหรียญแห่งอีสเตอร์ลิง (Easterling Coin)
จุดเริ่มต้นของเหรียญเงินเพนนีเกิดขึ้นจากการเปิดดินแดนเพื่อค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านของอังกฤษ จากความนิยมการใช้โลหะอย่างกว้างขวางในยุคสำริด ทำให้มีการคิดค้นโลหะเพื่อนำมาใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนของเหล่าพ่อค้า แต่เดิมอังกฤษมีการทำการค้ากับชาวอีสเตอร์ลิง (Easterling) วัฒนธรรมการใช้เงินตราจึงถูกรับเข้ามาด้วยเหตุผลนี้ และเหรียญเหล่านี้จึงถูกเรียกว่าเหรียญแห่งอีสเตอร์ลิง (Easterling Coin) ทั้งยังได้รับการยอมรับและเชื่อถือกันอีกด้วยว่า เป็นเหรียญที่มีความแข็งแรงและคุณภาพสูง เมื่อมีเหรียญแห่งอีสเตอร์ลิงแล้ว อังกฤษเองก็คิดค้นการกลั่นโลหะของตนเองด้วยเช่นกัน ในยุคของกษัตริย์เฮนรี่ที่ 2 ปี ค.ศ. 1158 โรงกลั่นโลหะก็ถูกสร้างขึ้น และผลิต Tealby Pennies ขึ้นเป็นครั้งแรก นับเป็นเหรียญเงินที่หลอมขึ้นจากเงิน 92.5% หรือ 925 Sterling Silver นับแต่นั้นมา สกุลเงินเพนนีก็ถูกใช้เป็นมาตรฐานเงินตราทั่วประเทศอังกฤษจนมาถึงปัจจุบัน
ทุกวันนี้เหรียญเงินเพนนีของอังกฤษไม่ได้ใช้มาตรฐานของเงิน 92.5% อีกแล้ว แต่คำว่า 925 Sterling Silver ยังคงอยู่ และถูกนับเป็นมาตรฐานคุณภาพสำหรับเครื่องประดับที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล